วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประวัติการขุดค้นพบ พระท่ากระดาน (พระเกศบิดตาแดง) จังหวัดกาญจนบุรี

ประวัติการขุดค้นพบ พระท่ากระดาน (พระเกศบิดตาแดง) จังหวัดกาญจนบุรี



สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระกรุเนื้อชินตะกั่ว สนิมแดง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาแต่โบราณอีกกรุหนึ่งก็คือ พระท่ากระดาน คนในพื้นที่เมืองกาญจนบุรีในสมัยก่อนนู้น มักเรียกพระท่ากระดานว่า "พระเกศบิดตาแดง" พระท่ากระดาน มีชื่อเสียงในด้านมหาอุตม์หยุดลูกปืน ซึ่งก็มีประสบการณ์ของผู้ที่ห้อยพระท่ากระดานมากมาย จนเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น ครั้งที่นายพลตำรวจไปจับโจร และเกิดการดวลปืนกันขึ้น ปรากฏว่าท่านนายพลถูกยิงแต่ไม่เข้า ส่วนโจรก็เรียบร้อยโรงเรียนโจรไป ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของพระท่ากระดานมีการกล่าวขวัญกันมากยิ่งขึ้น

อาจารย์ตรียัมปวายท่านก็ได้แต่โคลงยกยอพระท่ากระดานไว้ดังนี้

ท่ากระดานเดชกระเดื่องด้าว แดนกาญจน์

อุไรฉาบมันปูฉาน ฉ่องเนื้อ

กล่ำเนตรเกศบิดสาร ศอเยี่ยง

เรืองเดชมหาอุตม์เกื้อ เก่งยั้งยังกระสุน

พระท่ากระดาน เป็นพระเครื่องที่ขุดพบที่หมู่บ้านท่ากระดาน ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2460 สถานที่พบเป็นวัดร้างเก่าแก่ที่เรียกกันว่า วัดบน วัดกลาง วัดล่าง และในถ้ำลั่นทม ปัจจุบันวัดเหล่านี้ถูกน้ำท่วมไปหมดแล้ว เนื่องจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ การขุดหาพระท่ากระดานนั้น ได้มีการขุดหากันเรื่อยมา แต่ก็พบ พระกันไม่มากนัก พบกระจายกันไปทั่ววัดร้างดังกล่าว ต่อมาก็ได้มีการขุดกันอย่างจริงจัง เนื่องจากความโดดเด่นดังของพระท่ากระดาน

ในปีพ.ศ.2495-96 พระที่พบจากตำบลท่ากระดานนี้จะเรียกกันว่า พระกรุเก่า เนื่องจากภายหลังได้มีการพบพระท่ากระดานอีกจากวัดในตัวเมืองกาญจน์ พระที่พบในครั้งหลังๆ นี้จะเรียกกันว่าพระกรุใหม่ พระที่พบในตัวเมืองกาญจน์มีการพบอยู่หลายครั้งเช่น

ในปีพ.ศ.2497 หลวงปู่เหรียญได้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามขึ้น ขณะที่กำลังซ่อมพระอุโบสถหลังเก่าอยู่นั้น ได้พบพระท่ากระดาน รวม 93 องค์ และพระสกุลท่ากระดานอีก 21 องค์ พร้อมกับ พบพระปิดตาเนื้อผงที่สร้างโดยหลวงปู่ยิ้ม อีกหลายองค์ ถูกบรรจุอยู่ในโถโบราณ อยู่ข้างบนเพดานพระอุโบสถด้านหลังองค์พระประธานสันนิษฐานว่า พระท่ากระดานและพระสกุลท่ากระดานนั้นมีผู้นำมาถวายหลวงปู่ยิ้มไว้ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัว

ในปีพ.ศ.2506 ที่วัดเหนือ (วัดเทวสังฆาราม) สมัยหลวงพ่อดีเป็นเจ้าอาวาส ทางวัดได้มีการเจาะองค์พระเจดีย์ประธาน เพื่อบรรจุพระพุทธ 25 ศตวรรษ ซึ่งทางการได้มอบมาให้บรรจุ พอเจาะลึกลงไปประมาณ 1 เมตร ได้มีทรายทะลักออกมา เมื่อโกยทรายออก ก็พบพระเครื่องจำนวนมาก เช่น พระท่ากระดาน และพระเครื่องต่างๆ มากมาย เฉพาะพระท่ากระดานที่พบในครั้งนี้ พบเพียง 29 องค์ และพบพระอื่นๆ อีกมากมายหลายแบบ

ในปีพ.ศ.2507 ที่วัดท่าเสาได้มีการขุดองค์พระเจดีย์โบราณองค์หนึ่ง ก็พบพระท่ากระดานออกมาจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีการบันทึกว่าพบจำนวนเท่าไร คาดว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก นอกจากนี้ยังพบพระท่ากระดานน้อยอีกจำนวนหนึ่งด้วย

พระท่ากระดานที่พบตามวัดในตัวจังหวัดทั้งหมด มีพิมพ์แบบเดียวกับที่พบที่ตำบลท่ากระดาน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระที่พบที่ตำบลท่ากระดานทั้งหมด แต่ได้ถูกนำมาบรรจุไว้ตามวัดต่างๆ ในภายหลัง พระที่พบจากวัดในตัวจังหวัดทั้งหมดนี้ในสมัยนั้นเรียกกันว่า "พระกรุใหม่" แต่ในปัจจุบันนั้นไม่ได้แยกกันแล้วครับ เพราะมีแบบพิมพ์อันเดียวกันเป๊ะ อย่างในสมัยแรกๆ ที่มีการพบพระนั้น ด้วยสาเหตุที่องค์พระมีสนิมแดงจับทั่วทั้งองค์ และเกศส่วนมากจะบิดคดไปคดมาโดยส่วนมาก จึงเรียกไปตามประสาชาวบ้านกันว่า "พระเกศบิดตาแดง" แต่ต่อมาเมื่อมีความนิยมกันมากขึ้นก็ได้เปลี่ยนชื่อเรียกตามสถานที่พบพระเป็น "พระท่ากระดาน" ส่วนเกศของพระนั้นมีทั้งที่เกศยาว เกศบิดงอ และเกศสั้นครับ บางองค์มีการปิดทองมาแต่เดิมก็มีครับ

พระท่ากระดาน เท่าที่พบเป็นเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงแทบทั้งสิ้น แต่ที่พบมีแต่ไขขาวเพียงอย่างเดียวหรือมีสนิมแดงน้อยมากก็มีเช่นกัน แต่พบจำนวนน้อยมากครับ ในด้านพุทธคุณนั้นโด่งดังมากเรื่องอยู่ยงคงกระพัน และทางด้านโชคลาภ พระท่ากระดาน พิจารณาตามศิลปะแล้ว เป็นพระศิลปะแบบอู่ทองหน้าแก่ ปัจจุบันหาพระแท้ๆ ยากมากครับ สนนราคาสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น